Share:
Youtube :Travel MGR ม่านสีรุ้ง ไฮไลท์สำคัญของถ้ำหลวงแม่สาบ
อุทยานแห่งชาติขุนขาน เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ถ้ำหลวงแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในถ้ำพบกุมภลักษณ์กลับหัวจำนวนมาก ส่วนผนัง - เพดานถ้ำบางจุดดูเป็นม่านสีรุ้งสวยงามสุดอันซีน นอกจากนี้ก็ยังพบหินย้อยสีดำที่ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่งไม่น้อย ถ้ำหลวงแม่สาบ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ “อุทยานแห่งชาติขุนขาน” ตัวถ้ำตั้งอยู่ห่างจากถนนสายสะเมิง - อำเภอกัลยานิวัฒนา เพียง 100 เมตร และห่างจากเทศบาลอำเภอสะเมิง เพียง 5 กิโลเมตร ถ้ำหลวงแม่สาบ แหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่ที่อำเภอสะเมิง
ถ้ำหลวงแม่สาบ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ ที่ 1 อุทยานแห่งชาติขุนขาน (ถ้ำหลวงแม่สาบ) มีลักษณะเป็นถ้ำในภูเขาหินปูที่อยู่สูงจากพื้นราบหน้าถ้ำประมาณ 2 เมตร ถ้ำหลวงแม่สาบเป็นถ้ำที่มี 2 ระดับ คือถ้ำด้านบนเป็นโถงถ้ำกว้าง มีหน้าต่างถ้ำขนาดใหญ่ด้านบน และมีหลืบถ้ำเข้าไปลึกราว 10 เมตร แล้วตัน ส่วนถ้ำด้านล่าง ปากถ้ำกว้างราว 2 เมตร ปากทางเข้าถ้ำหลวงแม่สาบ
สำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อเข้าไปในถ้ำจะพบกับอุโมงค์ทางเดินแคบๆ มีความยาวประมาณ 30 เมตร ต่อจากนั้นจะเป็นห้องโถงกว้างที่มีลักษณะแตกต่างจากถ้ำทั่วๆ ไป ในบรยากาศสุดอันซีน เนื่องจากถ้ำปกติทั่วๆ ไป มักจะมีหินงอก หินย้อย แต่โถงถ้ำแห่งนี้กลับเต็มไปด้วย “กุมภลักษณ์กลับหัว” มีลักษณะคล้ายโดม หรือหลุมซ้อนทับ และต่อเนื่องกันไป ทั้งในส่วนของผนัง และบนเพดานถ้ำ กุมภลักษณ์กลับหัว มีลักษณะการเกิดเหมือนหลุม “กุมภลักษณ์” หรือ “โบก” ในภาษาอีสาน ซึ่งพบเห็นตามลานน้ำตก ลานหิน หรือในแม่น้ำทั่วไป (ที่มีชื่อเสียง คือ สามพันโบก ที่ จังหวัดอุบลราชธานี) แต่ต่างกันตรงที่กุมภลักษณ์กลับหัวแทนที่จะเป็นหลุมในแนวราบเหมือนหลุม กุมภลักษณ์ตามพื้นหิน แต่นี่กลับเป็นหลุมร่องลึกเว้าเขาไปตามผนัง หรือเพดานถ้ำ ทางเข้าถ้ำ ช่วงแรกเป็นอุโมงค์เล็กๆ แคบๆ
ส่วนที่ดูน่ามหัศจรรย์ไม่น้อย คือ หินกุมภลักษณ์กลับหัวที่นี่ เต็มไปด้วยสีสันต่างๆ ทั้ง เหลือง , ส้ม , แดง , น้ำตาล , ฟ้า , ขาว , เทา และดำ เป็นแนวสีสลับกันไปอย่างสวยงาม ถ้ำหลวงแม่สาบมีห้องโถงที่ปรากฏแนวม่านสีแบบนี้มีอยู่หลายโถงด้วยกันทั้งขนาดเล็ก - ใหญ่ โดยสีที่ปรากฏก็มีตั้งแต่สีจาง มีสีที่ต่างกันไม่มาก ไปจนถึงสีที่มีความหลากหลาย มีความเข้มชัด เป็นแนวเรียงๆ กันเหมือนสีรุ้ง ประดุจดัง “ม่านสีรุ้ง” ผืนใหญ่อันสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังดูน่าพิศวงสำหรับผู้ที่พบเจอไม่น้อย จนถ้ำให้ถ้ำแห่งนี้ได้รับการเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำสีรุ้ง” หลุมกุมภลักษณ์ตามลานหินทั่วไป
ดร.ชัยพร สิริพรไพบูลย์ ที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรธรณีและผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำของประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดกุมภลักษณ์กลับหัวและม่านสีรุ้งที่ถ้ำหลวงแม่สาบ ว่า “กุมภลักษณ์ หรือ โบก ในภาษาอีสาน ก็คือ หลุมที่พบบริเวณพื้นท้องน้ำหรือน้ำตกที่เป็นหิน และบริเวณที่มีทางน้ำไหลเชี่ยว จะเห็นเป็นรูขนาดต่าง ๆ กัน ซึ่งเกิดจากการขัดสีของก้อนกรวดหรือเม็ดทราย ที่อยู่ในแอ่งหรือร่องบนพื้นหิน เมื่อมีน้ำเชี่ยวไหลผ่านมาจนพาให้ก้อนกรวดเกิดการหมุนวน กรวดเหล่านี้ก็จะเกิดการขัดสีกับหินที่มันไปขังอยู่" “เมื่อเวลาผ่านไปนานมากขึ้น หินที่พื้นท้องน้ำจะถูกกัดกร่อนจนเป็นหลุมในแนวดิ่ง ผนังของหลุมก็กร่อนไปโดยรอบทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความลึกมากกว่าเดิม ซึ่งที่เห็นได้โดยทั่วไปมักจะพบว่าที่ก้นหลุมจะมีขนาดกว้างกว่าปากหลุม รูปร่างมีทั้งทรงกลม ทรงรี และบางแห่งดูคล้ายรอยเท้าขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนในบางท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาท” ลักษณะของกุมภลักษณ์กลับหัวในถ้ำหลวงแม่สาบ
สำหรับในส่วนของการเกิดกุมภลักษณ์กลับหัวภายในถ้ำ ดร.ชัยพร อธิบายว่า “ภายในถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำหินปูน หรือถ้ำหินทราย ก็อาจจะมีกุมภลักษณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณเพดานถ้ำ และผนังถ้ำ ทำให้เห็นเป็นรูกลวงในแนวดิ่งบนเพดานถ้ำ กลายเป็นกุมภลักษณ์กลับหัว ซึ่งในบางถ้ำจะดูคล้ายรูปโดม หรือเป็นร่องยาวหลายร่องที่เพดานถ้ำ” “การเกิดกุมภลักษณ์กลับหัวนั้น มีทฤษฎีการเกิดที่เรียกว่า Anastomosis(อนาสโตโมซิส) ซึ่งเป็นกระบวนการเกิดถ้ำที่เป็นถ้ำธารลอด โดยจะเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ของการพัฒนาโถงถ้ำ เรียกว่า อะนาสโตโมสิส (Anastomosis พหูพจน์ anastomoses) คือเมื่อมีน้ำไหลผ่านช่องว่างของชั้นหิน (bedding plane) หรือรอยแตกของหิน จะเกิดการละลาย และการกร่อนในโพรงที่มีน้ำ บางทีจะเห็นเป็นร่องที่เชื่อมกันเป็นร่างแหที่เพดานถ้ำ ซึ่งต้องแหงนหน้าขึ้นไปจึงจะเห็น” สีสันลวดลายม่านสีรุ้งบนผนังถ้ำที่เกิดจากธรรมชาติสรรค์สร้าง
นอกจากนี้ ดร.ชัยพร ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ร่อง หรือ โครงข่ายร่องบริเวณเพดานถ้ำนี้จะเกิดจากการละลาย(dissolution) และ การกร่อนสลายตัว(corrosion) ของทางน้ำบาดาลที่ไหลไปตามช่องว่างระหว่างชั้นหิน(bedding plane) และ รอยแตกของหินที่อยู่ในแนวระนาบหรือแนวเอียงก็ได้ สำหรับในช่องว่างของชั้นหินที่มีน้ำเต็ม(phreatic condition) นั้น ในบริเวณผิวหน้าส่วนล่างของชั้นหินที่อยู่เหนือ bedding plane ขึ้นไปก็จะสลายตัวกลายเป็นร่อง มีขนาดตั้งแต่ระดับเซนติเมตร จนกระทั่งมีขนาดใหญ่หลายเมตร และมักพบเป็นร่องยาว แต่ก็มีไม่น้อยจะมีรูปร่างเป็นหลุม หรือรอยเว้ารูปทรงกลมคล้ายรูปโดม จึงทำให้เป็นกุมภลักษณ์กลับหัว หรือกุมลักษณ์หงายท้องไป บางถ้ำจะพบอยู่แทบติดพื้นถ้ำ ต้องก้มหรือคลานผ่านเข้าไป แต่บางถ้ำที่มีวิวัฒนาการมานาน ประกอบกับมีการกัดเซาะที่พื้นถ้ำและเป็นการกัดเซาะในแนวดิ่งของลำธารในถ้ำ ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการยกตัวของแผ่นดิน จึงทำให้ร่องที่เพดานถ้ำ หรือโพรงรูปโดมนี้ปรากฏตัวอยู่ที่เพดานถ้ำในระดับสูงขึ้นไปหลายเมตร ลวดลาย หินงอก หินย้อย ในถ้ำ
ส่วนสีสันต่างๆ ที่ปรากฏเป็นม่านสีรุ้งนั้น ดร.ชัยพร อธิบายว่า เป็นสีของแร่ธาตุต่างๆ ที่สะสมกันโดยใช้เวลานานจนเป็นก้อนหินและปรากฏเป็นสีที่เรียงกันเป็นชั้นต่างๆ แม้ลักษณะของสีสันจะคล้ายกับที่อุทยานธรณีจางเย่ ที่มลฑลกานซู่ของจีน แต่ ดร.ชัยพรได้อธิบายว่า ทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันคือที่จางเย่นั้น เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมในช่วงที่เกิดหินชั้นต่างๆ หลายล้านปีมาแล้ว แต่ที่ปรากฏในถ้ำ เกิดในช่วงเป็นแค่ หมื่น - แสนปี และการต่างกันนั้นมาจากการเพิ่มออกซิเจนด้วย คือเวลาที่น้ำหินปูนที่มีสารละลายเหล็กและแมงกานีส (เดิมไม่มีสี) พอผสมกับ ออกซิเจน จะกลายเป็น สีแดง และสีดำภายหลัง สีสันภายในถ้ำ
ส่วนที่เห็นเป็นชั้นเป็นลายของสีเป็นชั้นๆ ในถ้ำ นั้นเป็นลักษณะของหินน้ำไหล (flowstone) เกิดจากการพอกของสารหินปูนในช่วงเวลาต่างๆ สีแดง และน้ำตาลเป็นแร่เหล็ก สีขาวเป็นแร่แคลไซต์ ส่วน สีเทา - ดำ เป็นแร่แมงกานีสออกไซด์ นอกจากนี้ภายในถ้ำหลวงแม่สาบยังมีอีกหนึ่งสิ่งชวนพิศวงนั่นก็คือ “หินย้อยสีดำ” ที่แตกต่างจากหินย้อยทั่วๆ ไปที่มักจะเป็นหินปูนสีขาว หรือไม่ก็มีหยดใสๆ เกาะพราวอยู่ตรงปลายยอด หินย้อยสีดำ
หินย้อยสีดำของที่นี่ ไม่ใช่หินย้อยที่มีฝุ่นสีดำเข้าเกาะ ซึ่งนั่นหมายถึงหินย้อยที่ไม่มีน้ำหินปูนหยดลงมาสะสม เป็นหินตายที่ไม่มีโอกาสย้อยเติบโตต่อไปได้อีก แต่หินย้อยสีดำที่ถ้ำหลวงแม่สาบแห่งนี้ ปรากฏว่ายังคงมีน้ำหยดลงมาอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าถ้ำแห่งนี้บรรดาหินงอกหินย้อยยัคงมีชีวิตอยู่ (ถ้ำเป็น) แต่น่าแปลกตรงที่หินย้อยที่นี่กลับเป็นสีน้ำตาลเข้มจนดำ แทนที่จะเป็นสีขาวเหมือนถ้ำหินปูนทั่วไป นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ชวนทึ่งไม่น้อย ม่านสีรุ้งบนผนังถ้ำหลวงแม่สาบ
สำหรับถ้ำหลวงแม่สาบวันนี้ ทางอุทยานแห่งชาติขุนขาน ได้พัฒนาและเปิดตัวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวถ้ำแห่งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎการเที่ยวถ้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ถ้ำแห่งนี้คงความสวยงามไปตราบนานเท่านาน