Share:
เมื่อเกิดเหตุ ... เบรกแตก
รถยนต์เกือบทุกรุ่นในปัจจุบัน ใช้น้ำมันเบรกเป็นตัวถ่ายทอดแรงดันระหว่างการกดของเท้าไปยังผ้าเบรก เหมือนเป็นระบบไฮดรอลิกชนิดหนึ่ง ดังนั้น อาจมีการรั่วซึมจากการรั่วของลูกยางตัวใดตัวหนึ่ง หรือ ท่อน้ำมันเบรกรั่ว ทำให้การถ่ายทอดแรงดันก็จะสูญเสียไป
ระบบเบรกมักแบ่งการทำงานออกเป็น 2 วงจร อาจเป็นแบบล้อคู่หน้า และ ล้อคู่หลัง หรือเป็นแบบไขว้ล้อหน้าซ้าย - ล้อหลังขวา และ ล้อหน้าขวา - ล้อหลังซ้าย เผื่อว่าวงจรใดวงจรหนึ่งชำรุด เพื่อให้ระบบยังมีประสิทธิภาพการทำงานหลงเหลืออยู่บ้าง
ดังนั้น เมื่อเบรกแตก หรือ น้ำมันเบรกเกิดการรั่ว
ส่วนใหญ่มักหลงเหลือประสิทธิภาพการทำงานอยู่หลายสิบเปอร์เซ็นต์ หรือ อีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งในอีกวงจร ตั้งสติให้มั่นคง เมื่อเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้วลึกต่ำกว่าปกติ ต้องเหยียบซ้ำแรงๆ และ ถี่ๆ เพื่อใช้แรงดันในวงจรที่เหลืออยู่ ผ้าเบรกจะได้สร้างแรงเสียดทานขึ้นมาบ้าง พร้อมกับการลดเกียร์ต่ำครั้งละ 1 เกียร์ จนกว่าจะถึงเกียร์ต่ำสุด แล้วค่อยใช้เบรกมือช่วย โดยการกดปุ่มล็อกค้างไว้ให้สุด เพื่อไม่ให้เบรกจนล้อล็อก ดึงขึ้นแล้วปล่อยสลับกันไป เพื่อลดความเร็ว ถ้าระบบเบรกชำรุดทุกวงจร ต้องใช้การลดเกียร์ต่ำช่วยเป็นหลัก แล้วค่อยดึงเบรกมือช่วย เมื่อไล่ลงจนถึงเกียร์ต่ำสุดแล้ว
รถยนต์ที่ใช้ระบบเบรก แบบ ABS ถ้าต้องการเบรกกะทันหัน อย่าเหยียบแล้วปล่อยสลับกันถี่ๆ แบบเทคนิคการเบรกในยุคเก่า เพราะ ABS จะตัดการทำงาน และไม่สามารถป้องกันการล้อล็อกได้ ต้องเหยียบลงไปให้แน่นๆ แล้วควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ควรจะไป นั่นคือวิธีที่ถูกต้อง เมื่อต้องเบรกกระทันหันในรถยนต์ที่มี ABS