ขบวนแห่ศพ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ในวันพระราชทานเพลิง 73 ปี
บทความจาก : เชียงใหม่นิวส์ / ขบวนแห่ศพ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ในวันพระราชทานเพลิง 73 ปี
หากเอ่ยชื่อของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักท่าน เนื่องด้วยท่านเป็นพระที่สร้างคุณูปการณ์มากมายไว้ในใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาและแผ่นดินล้านนา ครูบาศรีวิชัย ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เกจิรุ่นหลังเดินตามรอยพระศาสนา
บทความจาก : เชียงใหม่นิวส์ / ขบวนแห่ศพ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ในวันพระราชทานเพลิง 73 ปี
หากเอ่ยชื่อของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักท่าน เนื่องด้วยท่านเป็นพระที่สร้างคุณูปการณ์มากมายไว้ในใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาและแผ่นดินล้านนา ครูบาศรีวิชัย ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เกจิรุ่นหลังเดินตามรอยพระศาสนา
ท่านเกิดเมื่อวันอังคารขึ้น 11 ค่ำปีขาล ตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2420 มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ที่ วัดบ้านปาง อ.ลี้ ลำพูน สิริอายุได้ 60 ปีเศษ จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิง ณ วัดจามเทวี อ.เมืองลำพูน ลำพูน โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชาอัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้
1. บรรจุที่ วัดจามเทวี อ.เมือง ลำพูน
2. บรรจุที่ วัดสวนดอก พระอารามหลวง อ.เมือง เชียงใหม่
3. บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง อ.เมือง ลำปาง
4. บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง พะเยา
5. บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อ.เมือง แพร่
6. บรรจุที่ วัดน้ำฮู อ.ปาย แม่ฮ่องสอน
7. บรรจุที่ วัดบ้านปาง อ.ลี้ ลำพูน
พิธีพระราชทานเพลิงครูบาศรีวิชัย จัดขึ้นตามแบบประเพณีล้านนาไทย โดยเฉพาะขบวนแห่นั้น นับเป็นขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ นำหน้าด้วยมโหฬีปี่กลอง ตลอดสองฟากฝั่งถนนที่ขบวนเคลื่อนผ่านจะมีศรัทธาประชาชนให้ความสนใจ ต่างพากันออกมากราบไหว้เป็นครั้งสุดท้าย โดยขบวนศพของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เคลื่อนออกจากวัดบ้านปาง อ.ลี้ มาตามถนนสายลำพูน – ลี้ ผ่านบริเวณตัวเมืองลำพูน ก่อนที่จะไปตั้งพระราชทานเพลิงที่วัดจามเทวี อ.เมือง ลำพูน
ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านเคยเจาะหูและสักขาตามธรรมเนียมชาวล้านนา ครองจีวรแบบกุมผ้ารัดอก มักถือลูกประคำ พัดใบตาล พัดขนหางนกยูง และไม้เท้า ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ
วันอาทิตย์ ไม่ฉัน ฟัก แฟง
วันจันทร์ ไม่ฉัน แตงโม และ แตงกวา
วันอังคาร ไม่ฉัน มะเขือ
วันพุธ ไม่ฉัน ใบแมงลัก
วันพฤหัสบดี ไม่ฉัน กล้วย
วันศุกร์ ไม่ฉัน เทา
วันเสาร์ ไม่ฉัน บอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลย คือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และ ผักเฮือด - ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก