9. หลวงพ่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง)
วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ต.ผาจุก อ.เมือง อุตรดิตถ์
หลวงพ่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ต.ผาจุก อ.เมือง อุตรดิตถ์
พระฝาง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ศิลปะสมัยอยุธยาวัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบเศษ (31 นิ้ว) พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าพระฝาง ในสมัยที่เป็นสังฆราชาเมืองฝาง และเคยเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จนใน ปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระฝางมาประดิษฐานที่มุขเด็จ พระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน
สำหรับหลวงพ่อพระฝางองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดพระฝางนี้ เป็นพระพุทธรูปองค์จำลองครับ จัดสร้างโดยได้รับพระบรมราชานุญาต อัญเชิญจากกรุงเทพมาประดิษฐานเมื่อ ปี พ.ศ. 2551 มีงานสมโภช 9 วัน 9 คืน ปัจจุบันทางวัดจะจัดงานสมโภชองค์พระฝางเป็นประเพณี 3 วัน 3 คืน ในช่วงเมษายนของทุกปีครับ โดยปกติทางวัดจะเปิดให้เข้าสักการะในวันสำคัญของทางวัดครับ ใครอยากนมัสการเรียนขออนุญาตจากทางเจ้าอาวาสได้ครับผม
ประวัติ
แรกสร้างในสมัยสุโขทัย
พระฝาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณ ปี พ.ศ. 2280 มี พุทธลักษณะที่งดงาม เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของแผ่นดินไทยอีกองค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือพระพากุลเถระ พระสังฆราชแห่งเมืองฝาง (เจ้าพระฝาง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝางในขณะนั้น เดิมพระฝางเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระฝางหรือวัดสว่างคบุรีมุนีนาถ
พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพหลวงมาตีชุมนุมพระฝางได้ และโปรดเกล้าฯ ให้รับละครขึ้นมาสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ ที่วัดพระฝางถึง 7 วัน เท่ากันกับการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยองค์หนึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระฝางไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรฯจนถึงปัจจุบัน
อัญเชิญพระฝางไปยังวัดเบญจมบพิตร
ใน ปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระประธาน ที่เรียกกันว่า “พระฝาง” ลงมายังวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยทิ้งฐานพระไว้ที่เดิม พ.ศ. 2451 ปรากฏพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งให้ช่างรีบปั้นหุ่น ถ่ายรูปไว้แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำ นี้” แต่ในปัจจุบันนี้ เกินเวลาหนึ่งร้อยปีแล้ว องค์พระฝางก็ยังประดิษฐานอยู่วัดเบญจมบพิตร มิได้กลับคืนไปอุตรดิตถ์ ตามพระราชดำริแต่ประการใด
การจัดสร้างองค์พระฝางจำลอง
พ.ศ. 2547 คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 41 และหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชนรุ่นที่ 11 , จังหวัดอุตรดิตถ์ , กรมศิลปากร และพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ และจัดสร้างบานประตูวัดพระฝางจำลอง รวมทั้งจัดสร้างองค์พระฝางจำลองเพื่อนำกลับไปประดิษฐาน ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ โดยคณะกรรมการ วปรอ. 41 - 11 ได้ทำการขอพระบรมราชานุญาตจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจัดสร้างองค์พระฝางจำลองใน ปี พ.ศ. 2547 ตามหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ 112/47 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2547
พิธีหล่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) องค์ใหม่ จัดขึ้นที่ วัดเบญจมบพิตร โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 และวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร พระพุทธรูปพระฝางจำลอง ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานครฯ
การจัดสร้างองค์พระฝางจำลองแล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. 2550 และได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดพระฝางสวางคบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยอัญเชิญมาจากกรุงเทพมหานครโดยเครื่องบินมายังสนามบินพิษณุโลก ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 โดยมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ที่จังหวัดพิษณุโลก 7 วัน 7 คืน ในวันที่ 24 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2551 และได้อัญเชิญมายังวัดพระฝางสวางคบุรีในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยมีการจัดพิธีต้อนรับพระฝางทรงเครื่องจำลองและมีการจัดมหรสพสมโภช การแสดงแสงสีเสียง ประวัติของเมืองฝางและพระพุทธรูปพระฝาง อย่างยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน
ปัจจุบัน พระพุทธรูปพระฝางจำลองได้ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดพระฝางตามเดิม หลังจากพระพุทธรูปพระฝางองค์จริงได้จากเมืองอุตรดิตถ์ไปครบ 100 ปี การอัญเชิญพระพุทธรูปพระฝางจำลองกลับคืนสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ใน ปี พ.ศ. 2551 นี้ นับว่าเป็นมงคลสมัยครบรอบ 100 ปี นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขารับสั่งให้นำพระฝางกลับคืนยังเมืองฝาง ยังความปลื้มปีติแก่ชาวอุตรดิตถ์เป็นล้นพ้น
วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ต.ผาจุก อ.เมือง อุตรดิตถ์
วัดพระฝาง หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุว่า ประมาณ ปี พ.ศ. 1700 (ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) วัดพระฝางนับว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานของเมืองฝางสวางคบุรี (สว่างคบุรี เพี้ยนมาจาก สวรรคบุรี) เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยสุโขทัย และเป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองสว่างคบุรี เมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช
วัดพระฝาง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ โบสถ์มหาอุด (มีประตูทางเข้าบานเดียว) อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถานตัวอุโบสถมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มี เอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเดิมภายในอุโบสถเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งปัจจุบันตัวอุโบสถยังคงมีบานประตูไม้และหน้าบันแกะสลักสมัยอยุธยาอันสวย งามอยู่ บริเวณกลางกลุ่มโบราณสถานมีพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์องค์เดิมปรักหักพังไปมากจึงมีการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระวิหารหลวง เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน ปัจจุบันในพระวิหารหลวงมีบานประตูไม้แกะสลักวัดพระฝาง (เป็นบานประตูบานจำลอง สร้างเสร็จใน ปี พ.ศ. 2551 เพื่อนำมาติดตั้งแทนที่บานประตูเดิมที่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดธรรมาธิปไตยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2494) ปัจจุบันวัดพระฝางได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ได้รับประกาศเป็นโบราณสถานประมาณ 32 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา
ขอบคุณข้อมูลจาก สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย
พิกัด Gps. วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ต.ผาจุก อ.เมือง อุตรดิตถ์ : 17.638330, 100.226610
ขอขอบคุณ ut24hrs.com/9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์