3. หลวงพ่อเชียงแสน
วัดธรรมาธิปไตย (วัดต้นมะขาม) ต.ท่าอิฐ อ.เมือง อุตรดิตถ์
หลวงพ่อเชียงแสน วัดธรรมาธิปไตย (วัดต้นมะขาม) ต.ท่าอิฐ อ.เมือง อุตรดิตถ์
หลวงพ่อเชียงแสน เป็นพระประธานในอุโบสถธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดหน้าตัก กว้าง 38 นิ้ว สูง 67 นิ้ว พุทธลักษณะปางมารวิชัย เนื้อโลหะสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ สร้างในสมัยสุโขทัย สกุลช่างสุโขทัยยุคกลาง มีอายุกว่า 700 ปี พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย และอดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น ได้อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ปี พ.ศ. 2485
หลวงพ่อเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยองค์สำคัญ 1 ใน 2 องค์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้นำขึ้นมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน อีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา มีนามว่า หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดคุ้งตะเภานั้นไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสักการะเหมือนวัดธรรมาธิปไตย เนื่องด้วยปัญหารักษาความปลอดภัย
สำหรับหลวงพ่อเชียงแสน ประดิษฐานอยู่ที่อาคารอุโบสถธรรมสภาชั้น 2 ทางวัดจะเปิดให้เข้าสักการะในวันสำคัญของทางวัดครับ แต่ใครอยากนมัสการสามารถเรียนขออนุญาตจากพระสงฆ์ในวัดได้ครับผม
ประวัติ
พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย และอดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (ในสมัยนั้น) นำหลวงพ่อเชียงแสนมาจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ปี พ.ศ. 2485 ด้วยวิธีจับสลากเลือก และอัญเชิญมาลงยังสถานีอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟ และนำมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานอาคารอุโบสถธรรมสภา ที่สร้างเสร็จใน ปี พ.ศ. 2493 จนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อเชียงแสน เป็น พระพุทธรูปโบราณสำคัญ 1 ใน 3 องค์ และเป็นพระพุทธรูปยุคสุโขทัยองค์สำคัญ 1 ใน 2 องค์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้นำขึ้นมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน โดยหลวงพ่อเชียงแสนนั้น ได้มีการจารึกที่ฐานพระระบุว่าสร้างใน ปี พ.ศ. 2491 ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดหรืออาจเป็นกุศโลบายในการป้องกันพระจากการ โจรกรรมก็เป็นได้
วัดธรรมาธิปไตย (วัดต้นมะขาม) ต.ท่าอิฐ อ.เมือง อุตรดิตถ์
ซุ้มประตูวัดธรรมาธิปไตย
วัดธรรมาธิปไตย เดิมชื่อ วัดต้นมะขาม ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกจุดตัดถนนอินใจมี กับถนนสำราญรื่น ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่ตั้งอาคารธรรมสภาซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาบานประตูวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นประตูไม้แกะสลักที่มีความสวยงามที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์และสวยงามเป็นที่สองรองจากบานประตูวัดสุทัศนเทพวราราม
ปัจจุบันวัดธรรมาธิปไตยเป็นที่ตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (อาคารธรรมสภาชั้นล่าง) เป็นวัดเจ้าคณะอำเภอตรอน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเช่น กิจกรรมอบรมและการประกวดต่าง ๆ ในเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดธรรมาธิปไตย เดิมชื่อ วัดท่าทราย เนื่องจากเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน (ท่าอิฐล่าง) หรือบ้านบางโพเหนือ ต่อมาน้ำได้กัดเซาะตลิ่งพังเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงที่ตั้งวัด จึงต้องย้ายหนีน้ำขึ้นมาห่างจากที่เดิมประมาณสองกิโลเมตร สภาพที่ตั้งใหม่มีต้นไม้ร่มรื่นมากมาย โดยเฉพาะมีต้นมะขามขนาดใหญ่อย่ในบริเวณวัด จึงได้ชื่อวัดใหม่ว่า วัดต้นมะขาม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2345
ต่อมาเจ้าคณะจังหวัดได้ส่ง พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.8) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดต้นมะขาม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 พระสุธรรมเมธีดำริว่าชื่อวัดต้นมะขามนั้นฟังเหมือนอยู่ในป่าและต้นมะขามใหญ่ นั้นก็ไม่มีปรากฏแล้ว อีกทั้งวัดในขณะนั้นอยู่กลางเมืองอุตรดิตถ์มีผู้คนผ่านไปมามากควรเปลี่ยน ชื่อใหม่ให้ไพเราะ จึงได้ทำการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดธรรมาธิปไตย ตั้งแต่นั้นมา
ขอบคุณข้อมูลจาก สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย , มงคล กตปุญฺโญ.พระมหา , ประวัติวัดธรรมาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 1 อุตรดิตถ์ : โชคดีการพิมพ์ , 2551
พิกัด Gps. วัดธรรมาธิปไตย ต.ท่าอิฐ อ.เมือง อุตรดิตถ์ : 17.630531, 100.104074
ขอขอบคุณ ut24hrs.com/9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์