รวมภาพความประทับใจกับประสบการณ์การถ่ายภาพทางช้างเผือก
ในคืนที่ท้องฟ้ามืดมิด ไร้เมฆ และปราศจากแสงรบกวน เราจะมองเห็นแถบฝ้าสีขาวคล้ายเมฆ พาดยาวข้ามขอบฟ้า แม้ว่าลมจะพัดแรงเพียงใด แถบฝ้านี้ก็ยังคงอยู่ คนโบราณเรียกแถบฝ้าสว่างนี้ว่า "ทางช้างเผือก" หรือ "Milky Way" ซึ่งมาจากคำว่า "Via Lactea" ในภาษาละติน ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ทางน้ำนม" ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ทราบดีแล้วว่า แถบฝ้าสว่างที่เห็น แท้จริงนั่นคือ อาณาจักรของดาวจำนวนมหาศาล ซึ่งเรียกว่า "กาแล็กซี" (Galaxy) ...กาแล็กซีที่พวกเราอาศัยอยู่มีชื่อว่า "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (The Milky Way galaxy) ซึ่งประกอบด้วย ดาวฤกษ์จำนวนนับพันล้านดวง ดาวฤกษ์แต่ละดวงอาจจะมีดาวเคราะห์อีกหลายดวง และระบบสุริยะของเรา ก็เป็นสมาชิกหนึ่งในนั้น หากส่องกล้องมองไปที่ทางช้างเผือก เราจะเห็นดวงดาวจำนวนมหาศาล มากมายเต็มไปหมดจนนับไม่ถ้วน คล้ายกับจำนวนเม็ดทรายบนชายหาด แต่เนื่องจากดวงอาทิตย์ก็อยู่ภายในกาแล็กซี่แห่งนี้ เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีรูปร่างเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นได้คือ "แถบขาวจางๆ" ที่เหยียดตัวพาดผ่านท้องฟ้ายามค่ำคืน ลักษณะของกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซีแบบกังหันมีคาน ที่มีดาวฤกษ์อยู่อย่างน้อย 2 แสนล้านดวง กาแล็กซีของเรามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100,000 ปีแสง มีรัศมี 50,000 ปีแสง (1 ปีแสง เท่ากับ ระยะทางซึ่งแสงใช้เวลาเดินทางนาน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) และหนาประมาณ 2,000 ปีแสง ดังนั้นดวงดาวบนท้องฟ้าที่เรามองเห็นเป็นกลุ่มดาว ล้วนอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทางไม่เกิน 2,000 ปีแสง ...โดยดวงอาทิตย์จะอยู่ในบริเวณค่อนข้างมืดมิด (มีดาวฤกษ์ค่อนข้างน้อย) ที่อยู่ห่างออกไปจากใจกลางกาแล็กซีไปราว 2/3 ของขนาดรัศมีกาแล็กซี ซึ่งใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยดวงอาทิตย์จะโคจรรอบใจกลางทางช้างเผือก เช่นเดียวกับโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวงโคจรของดวงอาทิตย์รอบใจกลางทางช้างเผือกเป็นระยะทางที่ยาวมาก ดวงอาทิตย์จึงต้องใช้เวลาถึง 225 ล้านปีในการโคจรครบรอบ
เมื่อเรามองไปตามแนวระนาบของทางช้างเผือก เราจะมองเห็นฝ้าขาวสว่างของดาวในทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ห่างไกลนับหมื่นปีแสง และเมื่อมองไปในทิศระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู จะเห็นว่าทางช้างเผือกในบริเวณนั้น กว้างใหญ่และสว่างเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นเพราะเรากำลังมองเข้าไปตรงศูนย์กลางของกาแล็กซี ...ทางช้างเผือกไม่ใช่มีแต่เพียงฝ้าสว่างสีขาว แต่ยังมีฝ้าทึบสีดำด้วย ในบางบริเวณของกาแล็กซีมีก๊าซและฝุ่นอยู่อย่างหนาทึบ ดังเช่น บนระนาบของกาแล็กซี สสารอุณหภูมิต่ำเหล่านี้ บดบังความสว่างของดาวที่อยู่เบื้องหลัง เมื่อมองดูด้วยตาเปล่า เราจึงอาจคิดว่ามีช่วงว่างของอวกาศแทรกอยู่ระหว่างทางช้างเผือก แต่แท้จริงแล้วสีดำที่เห็นเหล่านั้น ล้วนเป็นกลุ่มก๊าซอันหนาทึบ ...นอกจากนี้ แกนหมุนของโลกทำมุมเอียง กับระนาบของกาแล็กซีประมาณ 60 องศา และโลกก็หมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงมองเห็นทางช้างเผือกพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศทางการวางตัวบนท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา บางเวลาก็อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ บางเวลาก็อยู่ในแนวเฉียง เป็นต้น
หลายคนถามว่าจะมองเห็นทางช้างเผือกได้ยังไง ...ไม่ยากเลยค่ะ มองหา "กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)" ซึ่งเป็นดาวประจำราศีพิจิกให้เจอ โดยดาวที่สำคัญในกลุ่มดาวแมงป่องและเป็นแลนมาร์คในการมองหาดาวแมงป่อง ก็คือ ดาวแอนทาเรส (Antares) เนื่องจากส่องสว่างมากกว่าดาวดวงอื่น โดยถือว่าเป็น "หัวใจของดาวแมงป่อง" เลยทีเดียว หรือที่คนไทยเรียกดาวดวงนี้ว่า "ดาวปาริชาต" นั่นเอง ...ซึ่งถ้าเรามองหากลุ่มดาวแมงป่องเจอแล้ว รับรองว่าได้เห็นทางช้างเผือกแน่นอน เนื่องจากทางช้างเผือกจะพาดผ่านบริเวณหางของกลุ่มดาวแมงป่อง ...แต่การที่เราจะมองหากลุ่มดาวซักกลุ่มนึงบนท้องฟ้านั้น สำหรับบางคนแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบนท้องฟ้านั้นมีดาวเป็นล้านๆ ดวง สำหรับตัวเองแล้วคิดว่าต้องใช้จินตนาการในการมองร่วมด้วย จึงจะมองเห็นได้ง่ายขึ้น ...เพราะฉะนั้นคนที่ช่างเพ้อ ช่างฝัน ก็อาจจะมองเห็นได้ง่าย แต่คนที่ logic มากๆ ก็อาจจะมองเห็นยากนิดนึง ...อันนี้คิดเอาเองนะ ...แต่ถ้าหาไม่เจอจริงๆ ปัจจุบันก็มีแอพลิเคชั่นช่วยในการมองหา ประมาณว่าใช้แอพส่องขึ้นไปบนท้องฟ้า มันก็จะบอกเราเลยว่าดาวที่เรามองเห็นนั้นคือดาวอะไร ...เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นมากๆ
แต่ก็ใช่ว่าเราจะมองเห็นทางช้างเผือกได้ทุกคืนนะ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาข้างขึ้น-ข้างแรมด้วย ถ้าเป็นช่วงข้างขึ้น ก็จะมองไม่เห็น เพราะมีแสงของดวงจันทร์มารบกวน ช่วงเวลาที่จะสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ข้างแรมในคืนที่ท้องฟ้ามืดสนิท ...โดยเฉพาะถ้าอยู่ในบริเวณที่ไม่มีแสงไฟรบกวน ท้องฟ้ามืดสนิท รับรองมองเห็นได้ชัดเจน สวยงาม และอลังการแน่นอน ...ซึ่งลักษณะของทางช้างเผือกที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะมองเห็นเหมือนเมฆเป็นทางขาวๆ พาดผ่านเป็นทางยาวๆ บนท้องฟ้า (ฝรั่งจึงเรียกว่า Milky Way แต่ทำไมคนไทยเรียกว่าทางช้างเผือกก็ไม่รู้อ่ะ อาจเป็นเพราะช้างเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และยิ่งถ้าเป็นช้างเผือกด้วยแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคล นำพาเราขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ได้มั๊ง ...อันนี้คิดเอาเอง) ...หลายคนอาจเคยมองเห็นทางช้างเผือกแล้ว แต่อาจไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ เพราะคิดว่าเป็นเมฆมากกว่า ...ซึ่งถ้าแหงนมองท้องฟ้าแล้วเห็นเป็นทางขาวๆ พาดผ่านหางของกลุ่มดาวแมงป่อง และคืนนั้นท้องฟ้าไม่มีเมฆ รับรองเป็นทางช้างเผือกแน่นอน ...ลองมองหากันดูนะ ...ส่วนการที่จะถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ ต้องใช้กล้องถ่ายรูปที่สามารถตั้งค่า ISO ได้สูงๆ ตั้งค่า speed shutter ได้นานๆ และตั้งค่ารูรับแสงกว้างๆ ได้ (ปัจจุบันมือถือบางยี่ห้อก็สามารถถ่ายทางช้างเผือกได้แล้ว) ซึ่งการตั้งค่าเหล่านี้ ไม่มีตัวเลขที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และสถานที่ว่าจะมืดได้มากแค่ไหน ...ซึ่งแอดมินเองก็ยังเป็นมือใหม่หัดถ่าย ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตลอด...ไว้มีโอกาสจะไปเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวนะคะ ...ไปดูภาพทางช้างเผือกสวยๆ ที่ได้ไปถ่ายตามสถานที่ต่างๆ กันเลยดีกว่าค่ะ ...
ช้างเชือกแรกในชีวิต ณ โฮมสเตย์ขอบด้ง ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่