กัลปพฤกษ์...ต้นไม้แห่งผลสำเร็จตามความปรารถนา
ในช่วงฤดูร้อนนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน มักเห็นดอกไม้ไทยชนิดหนึ่งที่ปลูกเรียงรายอยู่ริมทางออกดอกเบ่งบานสะพรั่ง สวยงามเป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก ดอกไม้ที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็คือ "กัลปพฤกษ์" หรือ "กาลพฤกษ์" นั่นเอง ซึ่งเมื่อใดที่ได้เห็นต้นกัลปพฤกษ์ออกดอกเป็นสัญญาณถึงว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว
"กัลปพฤกษ์" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana craib อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE CAESALPINIOIDEAE เช่นเดียวกับขี้เหล็ก จึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่นลักษณะใบ กาลพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5-12 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ ใบเป็นใบผสมมีใบย่อย 5-15 คู่ ใบย่อยมีรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีขนอ่อนปกคลุมใบทั้งหน้า-หลัง เป็นไม้ผลัดใบ ใบร่วงหล่นช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม หลังจากนั้นจะออกดอกหลังผลัดใบพร้อมแตกใบใหม่ ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งเป็นช่อใหญ่ เต็มต้นดูงดงามมาก ดอกไม่มีกลิ่นหอม ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีชมพู เมื่อเริ่มบานแล้วสีจะเริ่มจางจนเป็นสีเกือบขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย มีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่กลางดอก ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม มีขนอ่อนปกคลุม เนื้อในฝักสีขาวปนเขียว ลำต้น เปลือกเรียบ มีสีเทาแก่ เนื้อไม้สีเหลือง-น้ำตาล
ดอกไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบบริเวณป่าแดง ป่าโคก และป่าเบญจพรรณในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยพบได้มากทางภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดขอนแก่นและเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดราชบุรี
กัลปพฤกษ์ มีประวัติเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนไทยเกี่ยวกับชื่อต้นไม้นี้ คือ ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่า เป็นต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้อยู่บนสวรรค์ สำหรับโลกมนุษย์ ต้นกัลปพฤกษ์จะมาบังเกิดเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยต้นกัลปพฤกษ์จะขึ้นอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน ใครต้องการสิ่งของอะไรก็ไปอธิษฐานขอเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าว จึงมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ผลสําเร็จตามความปรารถนา
กัลปพฤกษ์นอกจากจะปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ยังมีคุณสมบัติมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรด้วย โดยแพทย์แผนไทยกำหนดสรรพคุณของกัลปพฤกษ์ไว้ว่า เนื้อในฝักมีคุณสมบัติเป็นระบายอ่อนๆ เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเพราะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาที่ระบายแรงกว่า แก้คูถ เสมหะ ส่วนเปลือกเมล็ด ทำให้อาเจียน ลดไข้ได้ดี
นอกจากนี้ ในวรรณคดีไทย ยังกล่าวถึงกัลปพฤกษ์ไว้ว่า ดังนี้
นานาทุมาผลธา ผกากอบเป็นอาจิณ
รายรอบสโรทกคือนิล ฉัตรกั้นกำบังสูรย์
เกิดกัลปพฤกษ์พฤกษอุฬาร ธนาสารก็สมบูรณ์
ประสงค์ใดปนโดยจิตนุกูล ทุกสิ่งสรรพโภคา
— สมุทรโฆษคำฉันท์