Unseen Thailand พระขี่ม้าบิณฑบาต วัดถ้ำป่าอาชาทอง อ.แม่จัน เชียงราย
"พระขี่ม้าบิณฑบาต" ไฮไลท์ของจังหวัดเชียงรายที่ถูกพูดถึงและเป็นเรื่องที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ที่มีสื่อจำนวนมากได้นำเสนอข่าวพระขี่ม้าบิณฑบาตออกไป ทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากให้ความสนใจ รวมทั้งมีผู้ที่มีจิตศรัทธาหรือพุทธศาสนิกชนมาเฝ้าคอยเวลาเพื่อทำบุญตักบาตร และคอยเก็บภาพประทับใจแปลกตานี้กันมากมาย จนทำให้กลายมาเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ที่มีนักท่องเที่ยวและผู้คนมากมายพูดถึงอย่างกว้างขวาง
ที่มาของพระขี่ม้าบิณฑบาตนี้ เริ่มมาจากที่พระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า "ครูบาเหนือชัย" หรือครูบาเหนือชัย โฆสิโต เจ้าอาวาสสำนักปฏิบัติธรรมวัดถ้ำป่าอาชาทอง ท่านต้องเดินขึ้นลงเขาเพื่อรับบิณฑบาตจากญาติโยมในหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปกว่า 5-10 กิโลเมตร ด้วยหนทางที่ไกลกว่าท่านจะเดินถึงวัดก็เลยเวลาฉันเพล ชาวบ้านจึงร่วมกันนำม้ามาถวายเพื่อให้ท่านใช้เป็นพาหนะในการเดินทางรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่มีลักษณะดี ร่างกายกำยำ ครูบาจึงตั้งชื่อให้ว่า "ม้าอาชาทอง" และใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อวัดด้วย จึงเป็นที่มาของ "วัดถ้ำป่าอาชาทอง" และ "พระขี่ม้าบิณฑบาต"
นอกจากท่านจะขี่ม้าเพื่อลงมารับบาตรจากชาวบ้านแล้ว ท่านยังใช้ม้าเป็นพาหนะเดินทางเผยแพร่ธรรมะและแจกจ่ายอาหารให้กับชาวเขาที่ลำบากและยากจนอีกด้วย นอกจากนี้ ท่านยังเป็นแนวร่วมช่วยดูแลรักษาผืนแผ่นดินไทย โดยมีปณิธานตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อน ผู้คนที่หลงผิด เช่น ชาวเขาที่ค้ายาหรือไปรับจ้างขนยา ท่านก็จะช่วยอบรมพวกเขาด้วยธรรมะ ช่วยให้พวกเขาหันมาประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเอง โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ครูบาเหนือชัยมีความพากเพียรให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บ ชายแดน จ.เชียงราย เพื่อเปลี่ยนพวกเขาจากกลุ่มผู้ลักลอบขนยามาเป็นชาวไร่ผู้หวงแหนและร่วมพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทย โดยพยายามดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมในกิจกรรมของวัด โน้มน้าวให้ชาวเขาส่งลูกๆ มาบวชเรียน มีการสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยท่านเป็นผู้เลี้ยงดูเรื่องอาหารการกินทั้งหมด ชาวบ้านที่มาเรียนหนังสือ มาฟังธรรมะ หรือช่วยงานวัด นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดคุณธรรมต่างๆ แล้ว ยังได้ข้าวปลาอาหาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้กลับไปบ้านด้วย ข้าวของที่ญาติโยมถวายมานั้น ครูบาจะแจกจ่ายให้เกือบหมด เหลือไว้ให้พระเณรที่วัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากหมู่บ้านใดอยู่ไกล ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาที่วัด ท่านและลูกวัดก็จะขี่ม้าข้ามเขานำข้าวของไปให้ ด้วยคุณธรรมของท่านทำให้ผู้มีจิตศรัทธานำข้าวของและม้ามาถวายให้ท่านเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าครูบาเหนือชัยเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นผู้ให้และน่าเลื่อมใสสูงอีกรูปหนึ่ง การเดินทางมากกว่า 10 ปีของการออกธุดงค์เพื่อเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตามชายแดนไทย-พม่า โดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ ในที่สุดท่านก็ได้รับการขนานนามว่า "นักบุญแห่งขุนเขา"
ครูบาเหนือชัย โฆสิโต เจ้าอาวาสสำนักปฏิบัติธรรมวัดถ้ำป่าอาชาทอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นอกจากนี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดถ้ำป่าอาชาทอง ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมิตรมวลชนคนชายแดนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ที่ปัจจุบันได้สานต่ออีกนับสิบโครงการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชาวไทยภูเขาที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน พร้อมๆ ไปกับการปลูกฝังธรรมะ ซึ่งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ประสบกับปัญหายาเสพติดแพร่ระบาด และจากสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ ปัจจุบันวัดถ้ำป่าอาชาทอง มีวัดสาขาถึง 12 วัด มีม้า 100 กว่าตัว มีโค-กระบือ 10 ตัว มีคนงานชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถึง 60 คน ซึ่งม้าดังกล่าวนั้นครูบาอนุญาตให้ชาวเขา ข้าราชการครูและตำรวจ-ทหารในพื้นที่หยิบยืมไปใช้ได้ ซึ่งหลังจากที่ข่าวเรื่องพระขี่ม้าบิณฑบาตได้รับการกล่าวขานออกไปจนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมาขอให้พระครูบาเหนือชัยนำวัดป่าอาชาทองเข้าร่วมในโครงการ Unseen Thailand เพื่อช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งครูบาเหนือชัยใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานถึง 3 ปี จึงตัดสินใจตกลงเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2547 เนื่องจากพระครูบาเกรงว่าเมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตอันเงียบสงบของชาวเขาย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป
จากเอกลักษณ์ของพระขี่ม้าบิณฑบาต ทำให้มีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเดินทางมาทำบุญตักบาตรที่ลานหน้าวัดและฟังธรรมเทศนาจากครูบาเหนือชัยเป็นประจำ ปัจจุบัน ในทุกๆ เช้า ครูบาเหนือชัยและพระ-เณรในวัดจะขี่ม้าออกรับบิณฑบาตในหมู่บ้านตั้งแต่เช้า และกลับมารับบิณฑบาตที่วัดเวลาประมาณ 07.00 น. หรือหากวันไหนมีคนมาใส่บาตรเป็นจำนวนมาก เวลาในการใส่บาตรก็จะมีถึงประมาณ 8.00 น. ซึ่งบริเวณที่ท่านจะออกรับบิณฑบาตคือบริเวณลานธรรมของวัดถ้ำป่าอาชาทอง ซึ่งในจุดนี้ จะมีชาวบ้านนำอาหารแห้งมาขายสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจิตศรัทธาเพื่อจะได้ร่วมตักบาตรได้สะดวกยิ่งขึ้น