สถานที่ที่งดงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงแสน ตั้งอยู่ก่อนเข้าเมือง เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก มีนกมากมาย เป็นสวรรค์ของนักดูนก และเป็นตำนานเก่าแก่ของเมืองเชียงแสน ที่พูดถึงบ้านเมืองก่อนสมัยพญามังราย ในช่วงนั้นมีกษัตริย์ที่เชื่อว่าเป็นราชวงศ์มาจากทางอินเดียเข้ามาปกครองพื้นที่แถบทะเลสาบเชียงแสน แต่ภายหลังปรากฏว่าผู้ปกครองบ้านเมืองประพฤติไม่อยู่ในศีลธรรมอันดี ชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกมาได้ก็ชักลากเข้ามาในเมืองโดยไม่ได้สังหรณ์ใจ ผู้ปกครองจึงให้เอาเนื้อปลาไหลนี้แจกจ่ายกันในหมู่ชาวบ้านชาวเมือง ให้ทุกคนได้กินเท่ากัน มีหญิงแม่หม้ายคนหนึ่งไม่ได้รับแจก ในคืนนั้นนางได้พบชายหนุ่มคนหนึ่งเขาถามด้วยความสงสัยว่าทำไมเมืองทั้งเมืองถึงหอมเหมือนกับชาวเมืองต้มแกงอะไรกันหอมน่ากิน หญิงแม่หม้ายจึงบอกว่าเกิดจากการที่ชาวเมืองเอาเนื้อปลาไหลเผือกไปแบ่งแจกจ่ายกันกิน ชายหนุ่มจึงถามว่าเหตุใดนางจึงไม่ได้รับเนื้อปลาไหลมาต้มมาแกงเหมือนคนอื่น นางบอกว่านางเป็นแม่หม้ายจึงไม่มีใครแบ่งเนื้อให้กิน
แต่บางตำนานก็บอกว่านางไม่ยอมกินเนื้อปลาไหลเผือก เสร็จแล้วชายหนุ่มจึงบอกว่าคืนนี้ถ้าได้ยินเสียงผิดปกติให้ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย ชายหนุ่มก็จากไป หญิงแม่หม้ายได้ยินเสียงดังคึกโครมมาจากบริเวณที่ตั้งเมือง แต่ทำตามที่ชายหนุ่มสั่งไว้ คือ ปิดประตูบ้าน ปิดหน้าต่างไม่ลงจากเรือน ในตอนเช้าสิ่งที่นางเห็น คือ เมืองทั้งเมืองหายไปหมด มีเพียงผืนน้ำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาเมืองทั้งเมืองและคนที่ได้กินปลาไหลเผือกก็สูญหายไปด้วยเหตุนี
ซึ่งบางตำนานกล่าวว่าเป็นการกระทำของพญานาคที่ปกปักรักษาบ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขง และปลาไหลเผือกนั้นเป็นบริวารของพญานาค พญานาคจึงลงโทษด้วยการขุดวักใต้ดิน จนเมืองถล่มจมหายเป็นหนองน้ำในพริบตาเหลือแต่หญิงแม่หม้ายคนเดียวที่เกาะดอนแม่หม้าย เชื่อว่าบริเวณบ้านของหญิงแม่หม้ายคือสำนักสงฆ์วัดป่าหมากหนอก จึงมีการสร้างศาลแม่หม้ายและรูปปั้นจำลองของพญานาคไว้ที่นั่น และเชื่อกันว่าร่องรอยของแม่น้ำคำ คือขนาดลำตัวของปลาไหลเผือกที่ถูกชักลากเข้ามาในเมือง