ประวัติศาสตร์ความเป็นมา
พื้นที่บริเวณเมืองเชียงแสนมีตำนานเกี่ยวกับการสร้างเมืองหลายเมือง ตั้งแต่ เมืองสุวรรณโคมคำ ที่พังทลายลงไปในแม่น้ำโขง เนื่องจากทางน้ำเปลี่ยน ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอยู่ที่เกาะกลางน้ำบริเวณตรงข้ามบ้านสวนดอกเลยสบกกไปเล็กน้อย
หรือ เวียงหนองหล่มที่อยู่ในตำนานแม่ม่ายกินปลาไหลเผือก หรือเมืองนาคพันธ์ุสิงหนวัตินครเวียงปรึกษา มาจนถึง เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ที่สร้างขึ้นมาโดย ลวจังกราช หรือ ปู่เจ้าลาวจก ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ลาว ที่ปกครองนครเงินยางเชียงแสน และพัฒนามาเป็นราชวงศ์มังราย
ประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมักเริ่มต้นจากการกำเนิดราชวงศ์ลาวโดยลวจังกราชได้โอปาติกะลงมาสร้างเมืองหิรัญเงินยางนครเชียงแสนขึ้นใน ปี พ.ศ.1181 โดยในตำนานได้กล่าวถึงกษัตริย์พม่าจะตั้งศักราชใหม่ขึ้นมาจึงเชิญกษัตริย์จากแว่นแคว้นใกล้เคียงมาประชุมกัน แต่เชียงแสนไม่มีกษัตริย์ ชาวบ้านจึงไปขอพระอินทร์เพื่อส่งผู้ปกครองมาปกครองบ้านเมือง พระอินทร์จึงให้เทวบุตรองค์หนึ่งโอปาติกะเป็นปู่เจ้าลาวจกหรือลวจังกราชไต่บันไดเงินบันไดทองลงมาจากสวรรค์เพื่อเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน
กษัตริย์ในราชวงศ์ลาวปกครองนครหิรัญเงินยางเชียงแสนมานานกว่า 600 ปี จนถึงรัชสมัยของลาวเม็งกษัตริย์ลำดับที่ 24 ได้ให้กำเนิดโอรสที่ประสูติแต่นางอั้วมิ่ง จอมเมืองธิดาท้าวรุ่งแก่นชายแห่งเมืองเชียงรุ่ง ได้ชื่อว่า มังราย และในเวลาต่อมาได้เติบใหญ่เป็นกษัตริย์ผู้ทรงปรีชาญาณ ขยายอำนาจการปกครองลงมาถึงเมืองเชียงราย เมืองฝางอาณาจักรหริภุญชัย และสร้างเมืองใหม่อย่างเวียงกุมกาม และ เมืองเชียงใหม่ ก่อนจะมาเป็นอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ในอดีต
เชื่อกันว่าเวียงเชียงแสน คือ เมืองหิรัญนครเงินยางซึ่งตามหลักฐานได้กล่าวถึงพญาแสนภูนัดดาของพญามังรายเป็นผู้สร้างโดยสร้างทับบริเวณที่เคยเป็นเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน เวียงเชียงแสนจึงเป็นเมืองโบราณที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลงเหลืออยู่มากมาย และพื้นที่เมืองโบราณเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตไปในวิถีสังคมปัจจุบัน โดยในเรื่องนี้ อาจารย์มิติ ยาประสิทธิ์ ครูโรงเรียนราษฎร์ประชานุเคราะห์ 15 (กลุ่มรักษ์เชียงแสน) ได้กล่าวไว้ว่า ...
เมืองเชียงเเสนเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นเเบบของอาณาจักรล้านนา มีความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรม มีความศรัทธาในพุทธศาสนา มีความโดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์การสร้างเมืองทำให้เมืองเชียงเเสนซึ่งมีพื้นที่เพียง 2.2 ตารางกิโลเมตร มีวัดถึง 76 เเห่ง