Share:
เจาะมิติ “รอยสักยอดฮิต” ของวัยรุ่นคำเมืองโบราณ กับมุมมองที่เปลี่ยนไป จาก “ศรัทธา” สู่ “อคติ” จากภาพลักษณ์คู่ครองที่เหมาะสม สู่ไอ้ขี้คุกที่ถูกเหยียด
“ขาลาย” ความภูมิใจของชายล้านนา
“เกิดเป๋นป้อจาย ขาบ่ลาย ก็อายเขียด”
คำพูดนี้แสดงถึงค่านิยมของชาวล้านนาสมัยก่อน ถึงการมีรอยสักบนร่างกาย ที่แสดงความเป็น
“ชายชาตรี” ศักดิ์ศรี เกิดเป็นชายต้อง “ขาลาย” ไว้ก่อน
“ขาลาย” วัฒนธรรมรอยสักของคนภาคเหนือที่มีมาตั้งแต่โบราณ “สับขาก่าน” หรือเรียกว่า “สักขาลาย” คือการสักลวดลายตั้งแต่เอวไปถึงต้นขา แต่ถ้าสักยาวไปถึงหัวเข่าจะเรียกว่า “สับขาก้อม”
ประเพณีสมัยก่อนปลูกฝังว่า การสักขาลายมุ่งเน้นไปในเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ใช้ดึงดูดเพศตรงข้าม บ่งบอกถึง การบรรลุนิติภาวะของเด็กหนุ่มที่กลายเป็นชายอย่างเต็มตัวและยังมีความเชื่อว่าการ สักขาลาย คือการทดแทนบุญคุณของพ่อแม่อีกด้วย โดยลวดลายในการสักมักจะเป็น “งู” หรือ “พญานาค” แต่หลังจากได้รับอิทธิพลจากศาสนาทางอินเดีย ก็เริ่มนิยมสักรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ตามคติของอินเดีย เช่น รูปมอม (สิงห์โต) และรูปนก ในช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ชายล้านนานิยมสักกันทุกคนมากน้อยแล้วแต่ค่านิยม เพราะรอยสักเป็นที่บ่งบอกว่าเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว สามารถเป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวและหญิงสาวได้ และยังมองว่า สักขาลาย ก็เปรียบเหมือนการใส่ ผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงานอีกต่างหาก “เมื่อต้องการแต่งกายไปงานสังคม กางเกงนี้ควรจะตกลงไปถึงเข่า แต่ชายล้านนา มักจะดึงผ้าขึ้นให้เป็นผ้าเตี่ยวชิ้นเดียว โดยมีรอยสักบนขาเป็นเครื่องประดับแทน การสักจะเริ่มหลังเด็กเช้าสู่วัยรุ่นได้ไม่นานนัก สำหรับลูกผู้ชายความเจ็บปวดไม่ใช่เรื่องสำคัญ เด็กหนุ่มจะพิถีพิถันในการจัดผ้าเตี่ยวของเขา เพื่อให้ได้เห็นรอยสักตามร่างกาย” นี่คือความภาคภูมิใจของชายล้านนา จากบันทึกของ เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. ที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในล้านนาเมื่อ พ.ศ. 2410 “ขาลายไว้แปลงราวตากผ้าอ้อม ข้าก้อมไว้แปลงก่อมขั้นไดขาขาวไปไกลๆ ไปอยู่ตีนขั้นไดปุ้นเต๊อะ”
บทกลอนกล่อมเด็ก ที่สะท้อนถึงค่านิยมของ แม่หญิงชาวเหนือ ที่หากจะเลือกคู่จะเลือกคนที่มีรอยสักเป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นชายหนุ่มที่มีครูบาอาจารย์ มีวิชาคาถาอาคม มีความองอาจ มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง สามารถปกป้องคุ้มครองเธอได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป “วัฒนธรรมขาลาย” กลับค่อยๆ เลือนหายไป เมื่ออิทธิจากตะวันตกเข้ามา จากบันทึกของ ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส พ.ศ. 2438 มองว่า สักบนร่างกายเป็นวัฒนธรรมของ “พวกป่าเถื่อน” “ประเพณีนี้เป็นสิ่งที่หยาบคายและป่าเถื่อน การสักร่างกายแสดงถึงความป่าเถื่อนอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความน่าเกรงขามและความเป็นลูกผู้ชาย”
ประเพณีนี้จะสาบสูญในอนาคตใกล้นี้แล้ว เมื่อเด็กหนุ่มที่โตมาในแนวทางของคริสต์ศาสนา ปฏิเสธไม่ยอมให้สักร่างกาย จากคำเตือนของคริสต์ศาสนาที่ว่า พวกท่านจะต้องไม่ตัดเนื้อของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อคนตาย และจะไม่ทำร่องรอยเครื่องหมายใดๆ ลงบนร่างกาย สักขาลาย ในปัจจุบัน ยังคงมีอยู่แต่ก็พบเห็นได้ยาก ส่วนใหญ่คนที่มีรอยสักขาลาย มักเป็นกลุ่มผู้เฒ่าชาวเหนือ ซึ่งล้มหายตายจากกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่จะคงสืบทอดวัฒนธรรมนี้ ไม่ให้เลือนหายไปอยู่ แรงผลักด้านลบ จาก “วัฒนธรรมตะวันตก+ภาครัฐ” ค่านิยม การสักอักขระ และเลขยันต์ แบบไทยนั้นได้ค่อยๆ ถูกกลืนจากการเข้ามาของ วัฒนธรรมตะวันตก เปลี่ยนจากความเชื่อในเรื่องเวทมนตร์คาถา มาเป็นความสวยงามแทน จากการค้นคว้าอิสระเรื่อง การสร้างอัตลักษณ์ที่ปรากฏบนเรือนร่างของตน บอกว่า คนไทยเริ่มรู้จัก Tattoo Art แบบตะวันตกตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๕ จากเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีการเข้ามาค้าขาย และ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก และเมื่อการมาถึงของเทคโนโลยี ทำให้เราได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้นผ่าน หนัง เพลง แนวคิดในการสักเองก็ถูกเปลี่ยนจาก อักขระ มนตร์ขลัง ไปเป็นสักแบบสวยงามตามแบบดาราฝรั่งเช่นกัน รอยสัก ความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรี และเป็นศิลปะที่มีมนตร์ขลังจากมุมมองของคนสมัยก่อน กลับถูกมองไปในทางที่ไม่ดีตั้งแต่ตอนไหน การศึกษาอิสระชิ้นนี้ ได้บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ค่านิยมของการสักในสังคมไทยเปลี่ยนไปในแง่ลบ เมื่อรัฐนำการสักมาใช้ในทางราชการ 2 ประเภทหลักๆ คือ “สักเลข” หรือการสักข้อมือของไพร่ เพื่อแสดงสังกัดว่าเป็น ชายฉกรรจ์ ที่มีสังกัดมูลนาย หรือกรมกรองแล้ว และ “สักหน้าผาก” เพื่อประจานความผิด และแสดงว่าบุลคนนั้นเป็นนักโทษ ต่อมาการสักประเภทนี้ได้ถูกยกเลยในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อรัฐใช้รอยสักเพื่อระบุความเป็นไพร่และนักโทษ ทำให้ค่านิยมและมุมที่มีต่อรอยสักในสังคมไทย เริ่มเปลี่ยนในทิศทางที่ไม่ดีมาตั้งแต่สมัยนั้น ทั้งนี้ยังมีภาพจำจากเหล่านักโทษ นักเลง ที่ตามเนื้อตัวมีแต่รอยสัก สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอซ้ำๆ ทำให้สังคมเกิด อคติ กับคนที่มีรอยสักว่าเป็นคนไม่ดีหรือขี้คุก แม้โลกจะเปลี่ยนไป รอยสักถูกยอมรับแล้วว่าเป็น ศิลปะมากขึ้น ทำให้อคติเหล่านี้ลดลง แต่ก็ยังคงมีอยู่สังคมไทย สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live ขอบคุณข้อมูล : www.ubu.ac.th www.sac.or.th ขอบคุณภาพ : www.sac.or.th