Share:
เมากัญชา แพ้กัญชา เป็นอาการที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากไทยปลดล็อกกัญชาพ้นจากสารเสพติด แถมบางคนยังเป็นหนักจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลกันเลย
จะเห็นได้ว่าหลังกัญชาถูกปลดล็อก ประชาชนบางส่วนก็ปลูกกัญชาได้ต้นสูงปรี๊ดชนิดที่โตทันใจ ส่วนร้านอาหาร รวมไปถึงร้านขายเครื่องดื่ม ก็ตอบรับกระแสกัญชาด้วยการรังสรรค์เมนูกัญชาออกวางจำหน่ายกันอย่างคึกคัก และไม่ใช่แค่ในส่วนของอาหารเท่านั้นหรอกนะคะที่กัญชาไปรันวงการ แต่ในวงการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ฉุกเฉิน ก็ต้องตั้งรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาหรือรับกัญชามาเกินขนาดจนเกิดอาการผิดปกติด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในกัญชาก็มีสาร THC ซึ่งเป็นสารเสพติดและสารเมา ที่ส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้แม้จะใช้อย่างถูกวิธีก็ตาม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เรามาเช็กกันว่าอาการแพ้กัญชาหรือเมากัญชาเป็นแบบไหน แล้วถ้าเผลอรับกัญชาเข้าไปแล้วเกิดเมาหรือแพ้เราควรแก้ยังไงดี
อาการแพ้กัญชา-เมากัญชา เป็นยังไง
อาการข้างเคียงจากกัญชาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในบางคนที่ไวต่อสารในกัญชามาก หรือได้รับกัญชาในปริมาณที่เกินควร ได้แก่ - ง่วงนอนมากกว่าปกติ - ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ - วิงเวียนศีรษะ - คลื่นไส้ อาเจียน อาการแพ้กัญชา - เมากัญชา แบบไหนควรพบแพทย์
ผลข้างเคียงของกัญชาที่รุนแรงและควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับบางคน ได้แก่ - หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ - เป็นลมหมดสติ - เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน - เหงื่อแตก ตัวสั่น - อึดอัด หายใจไม่สะดวก - เดินเซ พูดไม่ชัด - สับสน กระวนกระวาย - วิตกกังวล หวาดระแวงไม่สมเหตุสมผล - หูแว่ว เห็นภาพหลอน - พูดคนเดียว - อารมณ์แปรปรวน จะเห็นได้ว่าโทษของกัญชาก็ไม่ธรรมดา ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง ดังที่เราได้เห็นเคสผู้ที่แพ้หรือเมากัญชา บางคนกินคุกกี้กัญชาเพียงชิ้นเดียว หรือแค่ซดน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวผสมกัญชา ก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นรู้สึกเข้าใกล้ความตาย ยิ่งคนที่ใช้กัญชาเกินขนาดบางรายต้องรักษาใน ICU หรือเคสหนัก ๆ อาจมีภาวะไตเสื่อมกันเลยทีเดียวนะคะ ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติหลังกินกัญชา มาดูกันว่าเราจะแก้เมา แก้แพ้กัญชา ด้วยวิธีไหนได้บ้าง เมากัญชาแก้อย่างไร แพ้กัญชาแก้ได้ไหม
หากมีอาการเมาหรือแพ้กัญชา สามารถแก้อาการได้เบื้องต้น ตามนี้เลย - หากมีอาการคอแห้ง : ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมากๆ หรือดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทราย - หากมึนเมา : ให้บีบมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือปลายช้อนแล้วกิน หรือเคี้ยวพริกไทยแก้เมา - หากวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน : ให้ดื่มชาชงขิง หรือน้ำขิง หรือชงรางจืด ดื่มวันละ 3 เวลา แก้อาการโคลงเคลง แต่หากมีอาการหนัก แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที ใครไม่ควรใช้ - ควรระวังในการใช้กัญชา
เพราะกัญชาไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน แม้จะใช้อย่างเหมาะสมในปริมาณตามที่แพทย์สั่งก็ยังเกิดอาการแพ้หรืออาการข้างเคียงขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้กัญชาและสารสกัดจากกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ขณะเดียวก็ยังมีคำแนะนำจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห้ามบุคคลบางกลุ่มใช้กัญชา และบางกลุ่มต้องระวังการใช้กัญชา เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับโทษของกัญชามากกว่าประโยชน์ ได้แก่ ผู้ที่ห้ามใช้กัญชา - เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ห้ามใช้ และครอบครอง) - หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร - ผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา - ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ - ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช - ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มขนาดยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ที่ควรระวังในการใช้กัญชา - ผู้สูงอายุ - ผู้ที่ตับ และไตบกพร่อง - ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช คำแนะนำในการใช้กัญชา
หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาอย่างที่บอกข้างต้น แล้วต้องการลองชิมกัญชาดูบ้าง ก็อยากฝากข้อแนะนำรวมไปถึงข้อควรระวังในการใช้กัญชา ดังนี้ ข้อควรทำ - ก่อนใช้กัญชาควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อน - กินเมนูกัญชาจากร้านที่ซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูก และแหล่งจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว - กินเมนูกัญชาในปริมาณน้อย หากเพิ่งเริ่มกินควรกินแค่ครึ่งใบต่อวันก่อน เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อฤทธิ์ของกัญชาแตกต่างกัน - เลือกกินใบสด กินเป็นผัก จิ้มน้ำพริก กินเป็นสลัด หรือกินเป็นน้ำคั้นสด ซึ่งไม่มีสารเมา - เลือกกินกัญชาแบบที่ไม่ผ่านความร้อนนานๆ เช่น ใส่แบบใบกะเพรา - ระวังการกินเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อน หรือการกินกัญชาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เมนูทอด เพราะความร้อนและไขมันจะสกัดสาร THC ออกจากกัญชาได้มากขึ้น จึงไม่ควรกินมากเกินไป - ในอาหาร 1 มื้อ ไม่ควรกินเมนูกัญชาเกิน 2 เมนู และทั้ง 2 เมนูอาหารไม่ควรปรุงด้วยน้ำมันที่ผ่านความร้อน เช่น การทอด หรือผัด เพราะเสี่ยงได้รับสาร THC เกินปริมาณ - จำกัดการกินใบกัญชากับคนบางกลุ่ม เพราะอาจได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพ - หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการใช้เครื่องจักรอันตราย หลังกินกัญชาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ข้อควรระวัง - ไม่ควรกินกัญชาหลายเมนูในมื้อเดียว เพราะอาจได้รับสารเมาสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป - ไม่ควรกินใบกัญชาแบบทั้งใบ หรือใบที่ผ่านความร้อนแล้ว เกิน 5 - 8 ใบต่อวัน เพราะหากกินในปริมาณมากอาจมีอาการผิดปกติ เช่น กินอาหารได้มาก พูดมาก หัวเราะร่วน หิวของหวาน คอแห้ง และตาหวานได้ - ไม่ควรกินใบกัญชาแก่ หรือใบกัญชาตากแห้ง เพราะมีสาร THC มากกว่าใบกัญชาสด - ไม่กินใบกัญชาร่วมกับแอลกอฮอล์ - ไม่กินอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ใช้ช่อดอกกัญชาเป็นส่วนผสม เนื่องจากมีสาร THC ในปริมาณสูงมาก ปริมาณกัญชาในอาหาร กินแค่ไหนจะปลอดภัย
กรมอนามัยได้แนะนำปริมาณใบกัญชาต่อเมนูไว้ในประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ดังนี้ - อาหารประเภททอด น้ำหนัก 51 กรัม : ใช้ใบกัญชา 1 - 2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน - อาหารประเภทผัด น้ำหนัก 74 กรัม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด - อาหารประเภทแกง น้ำหนัก 614 กรัม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด - อาหารประเภทต้ม น้ำหนัก 614 กรัม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด - ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด นอกจากนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังให้คำแนะนำในการปรุงและกินเมนูกัญชาไว้ ดังนี้
ภาพจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
กัญชาเป็นพืชสมุนไพร ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่างก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีสารที่ทำให้เสพติดได้ โดยเฉพาะส่วนช่อดอกกัญชาที่มีสาร THC ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรใช้กัญชาอย่างระมัดระวัง หรือใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์จะดีที่สุดนะคะ บทความที่เกี่ยวข้องกับกัญชา - หมอเผยสาเหตุ ทำไมกัญชาแบบกิน อันตรายกว่าแบบสูบ กระบวนการเล็กๆ ที่คิดไม่ถึง - เมนูกัญชา ย้ำมือใหม่ควรรู้ก่อนลองชิม ไม่งั้นอาจเสี่ยงแพ้รุนแรง จะทำขายต้องทำไง - สาวเปิดใจ หลังเกือบตายจากต้มมะระใส่กัญชา กินไปไม่รู้ว่าแพ้ พร้อมฝากถึงแม่ค้าที่ใส่ทั้งใบ - กัญชา กับสรรพคุณทางยา และประโยชน์ในการรักษาโรค - กัญชาในอาหาร กินแล้วจะเมาไหม กินได้แค่ไหนไม่อันตรายต่อสุขภาพ - กัญชา กัญชง ปลดล็อกแล้วต้องรู้ ปลูก - สูบ - ขาย - ใช้ แบบไหน ผิด - ไม่ผิดกฎหมาย - เปิด 3 ตำรับยาแผนไทยผสมกัญชา ที่คนมีสิทธิบัตรทองก็เบิกได้ - กัญชง ต่างกับกัญชาอย่างไร รู้จักพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีประโยชน์ทางยา - รพ.อภัยภูเบศร ชี้ กัญชา มีประโยชน์มหาศาล ต้านมะเร็ง - ภูมิแพ้ - กัญชา - กัญชง รักษาโควิด 19 ได้หรือไม่ - 20 คาเฟ่กัญชา มาพร้อมเมนูกัญชาที่สายสมุนไพรต้องถูกใจ ขอบคุณภาพจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , สถาบันกัญชาทางการแพทย์ , กรมอนามัย , เฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center , ราชกิจจานุเบกษา