soup   van club                    
     
การท่องเที่ยว ที่มากกว่า การเที่ยวท่อง ..!!                    
     





soup van club     การท่องเที่ยว ที่มากกว่า การเที่ยวท่อง ..!!     ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยว ... แวะมาเยี่ยมกันบ่อยๆ นะ คร๊าบ ..


บริษัท ไทยฮอตสปอต เน็ตเวิร์ค จำกัด สนใจโฆษณา Welcome to JustUsers.net
จีพีเอสเที่ยวไทยดอทคอม

....::::    ::::....         สมัครสมาชิกเว็บ ง่ายๆ ถ้ามีเฟซบุ๊คอยู่แล้ว     ในขั้นตอนสมัครสมาชิก   เจอหน้าแรก "กดยอมรับข้อตกลงของเว็บ Soup Van Club"     หน้าต่อไป ให้กดที่ภาพ   "ภาพเฟซบุ๊ค"   แล้วป้อนอะไรนิดหน่อย     จากนั้นรอสักครู่ ระบบจะพาเข้าเว็บอัตโนมัติ ..!!       ....::::    ::::....

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดสุทัศน์ ครั้งแรกกับการซ่อมภาพสัตว์หิมพานต์อายุกว่า 200 ปีที่โลกลืม  (อ่าน 9545 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ลุงซุป เชียงใหม่

  • soup chiangmai
  • Administrator
  • *
  • กดนิ้วโป้ง.! แทนคำขอบคุณ
  • -มอบให้: 636
  • -จึงได้รับ: 967
  • กระทู้: 2161
  • กำลังใจ : +946/-0
  • ลุงซุป เชียงใหม่
  • ระบบปฏิบัติการ:
  • Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
  • เบราเซอร์:
  • Chrome 83.0.4103.97 Chrome 83.0.4103.97
    • <b>กลุ่มพิเศษ..</b>
  • สมาชิกลำดับที่: 1
Share: โพสกระทู้นี้ลงใน Twitter ของคุณ  โพสกระทู้นี้ลงใน Facebook ของคุณ...              


สนับสนุนเนื้อหา

                วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร นอกจากจะยืนหนึ่งเรื่องขนาดความใหญ่ของพระวิหารหลวงแล้ว จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวงยังได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยประเพณี เพราะทรงคุณค่าด้วยฝีมือบรมครูช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ภายในวัดยังมีงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่โลกลืมมากว่า 200 ปี เมื่อเข้าไปภายในพระวิหารหลวงทุกคนจะทึ่งกับจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรจากพื้นจรดเพดานว่าด้วยเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้นก็เขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐานว่าด้วยภพภูมิ โลก และจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา


                ทว่าหากมีเวลาพินิจพิจารณาเราจะเห็นว่าเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง วัดสุทัศน์ จะมีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่างช่องละสามภาพ รวม 48 ภาพ แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ติดตั้งอยู่สูงห่างไกลสายตาจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สังเกตเห็นและไม่ได้รับการเหลียวแลทั้งที่เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 และเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย



ครั้งแรกในรอบ 200 ปี กับซ่อมภาพเขียนสีฝุ่นชุดสัตว์หิมพานต์

                เป็นเวลากว่า 200 ปี ที่ภาพจิตรกรรมในกรอบชุดนี้ติดตั้งอยู่ภายในพระวิหารหลวงโดยไม่เคยนำลงมาบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่ง 7 ปีที่แล้วที่ทางวัดเริ่มดำริโครงการอนุรักษ์ เพราะภาพเหล่านี้ส่งสัญญาณเตือนว่าอยู่ในสถานะ “ไม่ปลอดภัย” ดั่งโชคชะตา เพราะผู้ที่รับผิดชอบอนุรักษ์ภาพเขียนเก่าล้ำค่านี้คือ ขวัญจิต เลิศศิริ ที่เคยใฝ่ฝันว่าอยากซ่อมแซมตั้งแต่เธอได้เห็นภาพเหล่านี้เมื่อ 28 ปีที่แล้วขณะเป็นนักศึกษาปี 1 แผนกจิตรกรรมไทยที่โรงเรียนเพาะช่าง เมื่ออาจารย์สมปอง อัครวงษ์ ครูประจำวิชาจิตรกรรมไทยพามาทัศนศึกษาที่วัดสุทัศน์



ขวัญจิต เลิศศิริ หมอศิลปะ ผู้ทำการซ่อมแซมภาพจิตรกรรม

                “เมื่อเห็นครั้งแรกรู้สึกประทับใจมาก แต่ก็แปลกใจว่าทำไมภาพเหล่านี้ดูชำรุดทรุดโทรม เราถามอาจารย์ว่าทำไมไม่มีใครเอาไปซ่อม อาจารย์ตอบว่าเขารอนักอนุรักษ์ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่านักอนุรักษ์ ที่อัศจรรย์มากคือตลอด 28 ปีนับตั้งแต่นั้นมาไม่เคยมีใครซ่อมเลย กรมศิลปากรมีแต่โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง แต่ไม่เคยมีการซ่อมภาพในกรอบ อาจเพราะภาพมีกระจกเปราะบางและมีน้ำหนักมาก การเคลื่อนย้ายลงมามีความเสี่ยงสูง ไม่มีใครเอากล้าถอดลงมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดนักอนุรักษ์ที่สามารถซ่อมงานประเภทนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่เอาภาพเหล่านี้ลงมาซ่อมแซม”

ขวัญจิตเล่าถึงโครงการอนุรักษ์ที่เธอดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 ปี นับตั้งแต่เธอดำรงตำแหน่งนายช่างศิลปกรรมของกรมศิลปากรจนกระทั่งออกมาทำงานอิสระ

                สัญญาณเตือนว่าภาพจิตรกรรมเหล่านี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต้องรีบพาไปหาหมอศิลปะเริ่มเมื่อ 7 ปีที่แล้วที่งานจิตรกรรมในกรอบชิ้นหนึ่งภายในพระอุโบสถตกลงมาแตก ทางวัดส่งภาพไปให้ร้านกรอบรูปตัดกระจกเข้ากรอบใหม่ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทางร้านใช้กาวลาเทกซ์ปิดภาพเข้ากรอบเพียงเพื่อให้แน่นและดูสวยงาม จะด้วยความบังเอิญหรือความโชคดีที่ อาจารย์พีระพัฒน์ สำราญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปเห็นเข้า ท่านจึงแนะนำว่าซ่อมแบบนี้อาจสร้างความเสียหายให้กับงานได้ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญที่กรมศิลปากรเข้ามาดูแล

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ขวัญจิต ณ ขณะนั้นยังรับราชการที่กรมศิลปากรและได้รับการยกย่องว่าเป็นมือหนึ่งในการซ่อมงานจิตรกรรมได้เข้ามาสำรวจงานศิลปะภายในวัดสุทัศน์

                “เราพบว่าที่งานตกลงมาแตกเพราะพุกเหล็กที่ใช้แขวนภาพเป็นสนิมกัดกร่อน ผุและหัก นั่นแสดงว่าภาพทั้งหมดอยู่ในความเสี่ยง จำเป็นต้องเร่งทำการสำรวจและมีแผนดำเนินการอนุรักษ์ ภายหลังเมื่อทางวัดมีโครงการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกโดยเสด็จพระราชกุศลการออกพระเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ จึงมีเงินที่ได้รับบริจาคบางส่วน พระท่านจึงเห็นควรให้อนุรักษ์ซ่อมแซมภาพจิตรกรรมในกรอบภายในพระวิหารหลวงก่อนเพราะมีอายุมากกว่างานในพระอุโบสถ”



การซ่อมแซมที่คงสภาพภาพเดิมให้มากที่สุด

ต้นแบบภาพสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย

                ภาพชุดนี้มีทั้งหมด 48 ภาพ แต่เสียหายไป 2 ภาพ ที่ประดับเหนือช่องประตูกลาง เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟไหม้บานประตูไม้แกะสลักฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ในปี 2502 (ประตูไม้ชิ้นนี้ปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จึงเหลือทั้งหมด 46 ภาพ ที่ต้องได้รับการซ่อมแซมจากโดนปลวกกัด กระดาษบวม และฉีกขาด เต็มไปด้วยเชื้อราและคราบสกปรก สีซีดจางและหลุดลอก

               ขวัญจิตจะทยอยนำลงมาซ่อมครั้งละประมาณ 3 ภาพ โดยประเมินว่าชิ้นไหนอาการโคม่าที่สุดให้รีบเอามารักษาก่อน ประมาณ 20 ภาพ ได้รับการบูรณะเรียบร้อยและนำไปติดตั้งยังที่เดิมแล้ว  หากมีโอกาสไปเที่ยววัดจะสังเกตเห็นได้ชัดว่าภาพไหนผ่านการอนุรักษ์มาแล้ว

               “เราไม่เคยพบภาพชุดสัตว์หิมพานต์ที่ไหนในไทยที่สมบูรณ์และมากที่สุดเท่าวัดนี้ เป็นงานศิลปะไทยประเพณีฝีมือชั้นครู แต่ความพิเศษคือการเข้ากรอบรูปอย่างตะวันตกทำให้งานดูร่วมสมัยซึ่งเริ่มมีการประยุกต์ใช้แบบแผนศิลปะอย่างฝรั่งในช่วงรัชกาลที่ 3 เพราะส่วนใหญ่งานประเพณีไทยนิยมเขียนบนผนังมากกว่า” ขวัญจิตผู้มีประสบการณ์งานด้านอนุรักษ์มากว่า 28 ปี กล่าว



วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ที่เปรียบได้ดั่งเขาพระสุเมรุ

                ตามคติการสร้างเมืองแบบโบราณ รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้าง วัดสุทัศน์ ขึ้นกลางพระนคร เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล และสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกเมื่อปี 2535 การออกแบบพระวิหารหลวงจึงจำลองเป็นเขาพระสุเมรุและภาพชุดจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์จึงได้รับการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับคติความเชื่อดังกล่าว

               “ภาพจิตรกรรมในกรอบภายในพระอุโบสถเป็นภาพจับรามเกียรติ์ หมายถึงภาพต่อสู้กัน และวัสดุแตกต่างกับในพระวิหารหลวงอย่างเห็นได้ชัด คือกระดาษที่ใช้วาดภาพเป็นสมัยใหม่คล้ายๆ กระดาษเยื่อไผ่ของจีน ตามประวัติพระวิหารหลวงสร้างก่อนพระอุโบสถและภาพเขียนวาดตามแบบแผนภาพสัตว์หิมพานต์บนกระดาษข่อยทำมือ  สิ่งที่น่าทึ่งคือการทำกระดาษข่อยขนาดใหญ่อย่างนี้เป็นเรื่องยาก เป็นทักษะของช่างชั้นสูงมาก”




การซ่อมแซมภาพ

                ภายในห้องทำงานขนาดใหญ่ที่บ้านพักของเธอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขวัญจิตและทีมงานกำลังซ่อมแซมอีกสี่ภาพในชุดสัตว์หิมพานต์นี้ บางภาพอยู่ในขั้นตอนการถมซ่อมชั้นรองพื้นด้วยดินสอพองและกาวเมล็ดมะขามเพื่อปิดประสานช่องโหว่ของรองพื้นเดิมที่ชำรุดและเพื่อรองรับการเขียนสีซ่อมใหม่ และบางภาพอยู่ระหว่างการเขียนสีซ่อมโดยเติมเฉพาะบนชั้นรองพื้นดินสอพองใหม่เท่านั้นด้วยวิธีการดิ่งเส้นคัดน้ำหนักสีด้วยพู่กันหัวเล็กให้ดูกลมกลืนกับของเก่า แต่สามารถแยกได้ว่าส่วนไหนใหม่และเก่า

               การคัดน้ำหนักสีต้องไม่ให้ทับรอยครูช่างและซ่อมเฉพาะส่วนที่ชำรุดเท่านั้น สีที่ใช้ซ่อมเป็นสีน้ำเกรดอาร์ติสที่ผ่านการวิจัยในแล็บว่าไม่ซีดจางในระยะเวลาสั้น เพราะตามหลักการอนุรักษ์สากลระบุว่าสีที่ใช้ต้องเอาออกได้ในอนาคต ขวัญจิตยังกล่าวว่าที่ไม่ใช้สีฝุ่นในการซ่อม เพราะสีฝุ่นทึบและน้ำหนักเยอะทำให้เวลาซ่อมนั้นกลมกลืนกับของเก่ายาก


“วันข้างหน้าสัก 50 ปี ถ้าสีที่เราซ่อมมีปัญหาก็ซับออกได้ เขียนทับใหม่ได้”

ส่วนกระดาษที่เสียหายใช้กระดาษสาญี่ปุ่นช่วยผนึกด้านหลังให้แข็งแรง เพราะถ้าใช้กระดาษข่อยจะหนาและแข็งทำให้เวลาซ่อมแล้วกระดาษไม่เรียบเนียน



คืนชีวิตภาพเขียนที่ถูกไฟไหม้ให้กลับคืนวิหาร

                ในการอนุรักษ์ครั้งนี้มีภาพหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นก็คือภาพเขียนที่หลงเหลือมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้บานประตูไม้เมื่อปี 2502 ซึ่งเดิมทีเหนือบานประตูได้แขวนภาพไว้ทั้งหมด 3 ภาพ และได้ถูกไฟไหม้มอดไปไม่เหลือซากถึง 2 ภาพ แต่กระนั้นก็ยังนับว่าเป็นโชคที่ภาพที่เหลือยังคงรายละเอียดของภาพสมบูรณ์มาก

               ในเอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้ทำการบันทึกข้อมูลของทั้ง 2 ภาพที่ไฟไหม้วอดว่า ภาพชุดนี้ประกอบด้วยภาพช้างห้าเชือกอยู่ในกรอบกระจกขนาดใหญ่ตรงกลาง และมีภาพม้าประดับอยู่สองข้าง สันนิษฐานว่าคงเป็นภาพช้างฉัตทันต์และบริวาล และภาพฝูงม้าหลายตระกูลคล้ายคลึงกับภาพม้าซึ่งอยู่ในกรอบกระจกด้านซ้ายที่เหลืออยู่ เอกสารชุดนี้จึงใช้เป็นหลักฐานในการที่จะฟื้นฟูเขียนภาพสันนิษฐานของสองภาพที่เสียหายให้กลับคืนสู่วิหารวัดสุทัศน์อีกครั้ง

               “ในจำนวน 3 ภาพที่ติดเหนือบานประตูใหญ่ถูกไฟไหม้เหลือรอดเพียงรูปเดียว แต่ตอนที่มาถึงมือเราอยู่ในสภาพกระดาษเปราะกรอบหมดเลยจากเขม่าควันและความร้อน และภาพฉีกขาดผ่ากลาง  เราปรึกษากับทางวัดว่าเราน่าจะฟื้นฟูอีกสองภาพที่เสียหายไปขึ้นมาใหม่โดยใช้การสันนิษฐานจากข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุที่บันทึกเหตุการณ์ว่าเมื่อตอนไฟไหม้อะไรเสียหายบ้าง ในนั้นระบุว่าสองภาพที่เสียหายเป็นภาพม้าและช้าง แม้ไม่ได้ลงรายละเอียดลักษณะของชิ้นงาน แต่เมื่อเราสืบค้นจากสมุดภาพไตรภูมิในหอสมุดแห่งชาติ และจากงานจิตรกรรมฝาผนังในหอไตรที่ตำหนักวาสุกรี วัดโพธิ์ ที่เขียนเรื่องตระกูลม้าและช้าง เป็นจิตรกรรมในยุคสมัยเดียวกัน ทำให้เราพอสันนิษฐานรูปแบบได้”




ช้างประเภทต่างๆ

ขวัญจิตกล่าวว่าตามตำราภาพสัตว์หิมพานต์ ม้ามีเจ็ดจำพวก และในหนึ่งภาพที่เหลือมีม้าอยู่ 4 จำพวก จึงสันนิษฐานว่าภาพที่เสียหายภาพหนึ่งน่าจะระบุถึงม้าอีก 3 จำพวก ส่วนภาพชิ้นใหญ่อีกภาพน่าจะเป็นภาพช้างมงคล

                “จากการค้นคว้าพบว่าม้าและช้างชุดนี้เป็นสัตว์มงคลประดับบารมีของพระจักรพรรดิราช เนื่องจากเป็นภาพชุดที่แขวนอยู่บนประตูกลางที่เป็นบานเสด็จฯ เข้าสู่พระวิหารหลวงของพระมหากษัตริย์  ในสมุดไทยจะบอกลักษณะของม้าและช้างแต่ละตัวว่าชื่ออะไร ลักษณะสีเป็นยังไง และมีภาพเขียนประกอบ  เราเลยยึดตำรานั้นมาเป็นเกณฑ์และให้จิตรกรที่เป็นครูจิตรกรรมไทยจากเพาะช่างร่างแบบขึ้นมาและเขียนใหม่เพื่อเติมเต็มสองภาพที่หายไป  เราจะบันทึกเหตุการณ์นี้ลงในจดหมายเหตุด้วยว่ามีการซ่อมและเขียนขึ้นใหม่” 



ภาพความหลากหลายของสัตว์หิมพานต์

ภูมิปัญญาช่าง 10 หมู่ ที่รวมอยู่ในภาพ

                นอกจากภาพวาดแล้วกรอบไม้และกระจกยังสะท้อนภูมิปัญญาช่างไทยในสมัยโบราณ กรอบทำจากไม้สักแกะลวดลายอย่างตะวันตกและปิดทอง เสากลมที่ประดับมีการเซาะร่องยาวเป็นแนวตั้งและตกแต่งบัวหัวเสาแกะสลักลวดลายใบไม้หล่อด้วยโลหะ คิ้วบัวยังประดับด้วยไม้กลึงเป็นเม็ดกลม

               “ทำงานชุดนี้สนุก เพราะเราได้เรียนรู้ไปกับงานด้วย เราทึ่งทั้งแนวคิดการวาดภาพและเทคนิคช่าง  ตอนที่เราได้งานมาชิ้นแรกเราหาทางเอาภาพออกจากกรอบไม่ได้ เพราะกรอบไม่เหมือนสมัยปัจจุบันที่มีตะปูและไม่เคยมีการบันทึกว่าภาพถูกตรึงอย่างไร จนกระทั่งเมื่อทำความสะอาดกรอบรูป สามี (สุริยะ เลิศศิริ) สังเกตเห็นว่าบริเวณด้านบนของกรอบมีเสี้ยนไม้คนละทางจึงค่อยๆ ใช้สิ่วลองขูดดูจึงพบลิ่มสี่ตัวเล็กๆ จากนั้นเมื่อค่อยๆ ลองถอดเอาลิ่มออกและใช้ค้อนทุบเบาๆ กรอบจึงคลอนและถอดออกได้ นี่คือความฉลาดและทักษะงานช่างชั้นสูง”




สุริยะ เลิศศิริ ผู้ถอดสลักกลไกของกรอบรูปโบราณออกมาได้

สุริยะซึ่งจบด้านประติมากรรมสากลจากโรงเรียนเพาะช่างเช่นกัน กล่าวเสริมว่างานชุด วัดสุทัศน์ นี้นับว่าเป็นงานที่รวมทักษะของช่าง10 หมู่ทั้งงานเขียน แกะสลัก กลึง ลงรักปิดทอง และหล่อโลหะ

                “ในสมัย 200 ปีที่แล้วยังไม่มีสว่านและกบไฟฟ้า ทุกอย่างใช้แรงงานมือทั้งหมด ช่างเมื่อก่อนทำได้อย่างไรที่ทำกรอบไม้ได้เนี้ยบจากไม้ชิ้นเดียว ซ้ำยังประดับด้วยเสากลึงด้วยมือทั้งท่อน ตรงร่องเสายังทำลายเส้นประดับอีก นอกจากนี้ยังหล่อตะกั่วเป็นรูปใบมะกอกเพื่อติดประดับที่เสาอีก กระจกยังเป็นแบบโบราณที่ใช้แก้วหลอมและดึงยืดออกมา  ปัญหาคือไม่สามารถเอาฟองอากาศออกได้และกำหนดความหนาบางไม่ได้ ไม่เหมือนสมัยใหม่ที่เรียบใส ไม่มีฟองอากาศ” สุริยะเน้นย้ำว่าในการอนุรักษ์จะเก็บรักษาของเดิมทั้งหมด

ขวัญจิตและสุริยะปฏิเสธที่จะใช้กระจกแบบมิวเซียมกลาสที่มีผู้หวังดียินดีเป็นสปอนเซอร์ให้ในโครงการนี้

                “มิวเซียมกลาสเป็นกระจกไม่มีแสงสะท้อนและกรองรังสียูวีได้ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่เราไม่ใช้ เพราะเราต้องอนุรักษ์สิ่งที่มากับชิ้นงานและแสดงให้เห็นว่ากระจกเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในอดีต เป็นหลักฐานยืนยันว่าคนในอดีตทำอะไรได้บ้าง ถึงแม้ไม่ใช่กระจกที่ดีเพราะมีเงาสะท้อนเยอะ แต่สิ่งนี้บอกว่าคนโบราณฉลาดทำกระจกเองได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3”

               ในปี 2559 ทางวัดและทีมงานของขวัญจิตได้จัดทำหนังสือ “จิตรกรรมภาพสัตว์หิมพานต์” จำนวน 2,000 เล่ม บันทึกทุกขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างละเอียดของงานชุดแรกเพื่อเสด็จพระราชกุศลพระราชทานในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส เพื่อเป็นการรักษาสืบทอดแบบแผนงานช่างจิตรกรรมไทยให้แพร่หลายและเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้า


ทั้งนี้ทางวัดมีแผนที่จะจัดพิมพ์หนังสือเล่มที่ 2 อีกครั้งในจำนวนพิมพ์ที่มากขึ้น โดยเพิ่มเนื้อหาด้านการอนุรักษ์เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทานและเป็นข้อมูลอ้างอิงในการทำงานอนุรักษ์โครงการอื่นๆ



บานประตูไม้แกะสลักฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ของเดิมที่ถูกไฟไหม้ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร


                “หนังสือเล่มแรกส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายก่อนการอนุรักษ์ แต่เล่มที่ 2  จะรวบรวมข้อมูลงานอนุรักษ์ทั้งหมดที่ทำมา และภาพสันนิษฐานที่เราจะเขียนใหม่สองภาพ พยายามให้ลงทันเล่มนี้ แต่ถ้าไม่ทัน เราจะใช้ภาพสเกตช์แทน เพราะเราไม่อยากกดดันคนทำงาน อยากได้งานที่ดีที่สุด เพราะงานที่วัดสุทัศน์นี้เป็นสุดยอดงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ขวัญจิตย้ำ

วัดสุทัศน์ ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ โทร.  0-2622-2819









ลุงซุป เชียงใหม่    (ศุภชัย นันท์วโรทัย)     081-032-1805    
 soup.van.cnx.    ID: 0810321805    soupvancnx     soup.van@hotmail.com

 

เว็บพันธมิตร, แลกลิ้งค์ เว็บบ้านพัก "แม่กลางหลวงฮิลล์" | ร้านชาสา บ้านรักไทย | เว็บรถป็อปดอทคอม | เว็บจีพีเอสเที่ยวไทยดอทคอม | เว็บพิจิตรบ้านเราดอทคอม
หน่วยงานการท่องเที่ยว การท่องเที่ยว (ททท.) | ททท.ภาคกลาง | ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออก | กรม อช.สัตว์ป่าและพันธุ์พืช | จองที่พัก อช.ระบบออนไลน์ | จังหวัดแม่ฮ่องสอน | ททท. สนง.แม่ฮ่องสอน | ศูนย์ศิลปาชีพ จ.แม่ฮ่องสอน | กระทรวงวัฒนธรรม | ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก(ก.วัฒนธรรม) | สำนักอุทยานแห่งชาติ | เว็บโครงการหลวงฯ
คมนาคม, ขนส่ง การบินไทย | โอเรี่ยนไทย | แอร์เอเชีย | Solar Air | บางกอกแอร์เวย์ | บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) | การรถไฟแห่งประเทศไทย | สมบัติทัวร์ | เชิดชัยทัวร์ | สยามเฟิสท์ทัวร์ | นครชัยแอร์ | รถทัวร์ไทยดอทคอม | ติดตามการส่งพัสดุEMS | ตรวจผลสลาก.. | speedtest.adslthailand.com | speedtest.net | speedtest.or.th